วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563

ชีวิตเมื่อเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

ชีวิตเมื่อเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิม

         เนื่องจากหลวงพ่อเดิมเกิดในตระกูลชาวนาน เมื่อเยาวัยท่านก็ได้รับการนำเข้าไปหาพระหาวัด โดยการศึกษาของชาวนาหนองโพในตอนนั้นมีศูนย์กลางคือวัดหนองโพ เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกของตัวมีความรู้ก็นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายเจ้า อาวาส น้อมถวายบุตรแห่งตนเข้าเรียนในสำนักโดยกล่าวคำปวารณาว่า “ขอฝากลูกของกระผม หรือดิฉัน ไว้ในปกครองดูแล จะดุด่าว่าตี สั่งสอนอย่างไร ก็แล้วแต่ขรัวเจ้าจะเห็นสมควร” ระยะที่จะนำบุตรมาฝากวัดก็อยู่ในฤดูแล้ง คือระหว่าง เดือน ๙ เดือน ๑๐ และเดือน ๑๑ เพราะว่าระยะนั้นว่างจากงานไร่นา เด็กจะได้ไม่เอาเวลาว่างไปเที่ยวเกะกะเกเรเข้าพวกพ้อง

         การศึกษาในสมัยนั้นจากบันทึกกล่าวไว้ว่า กระดานชะนวนหายาก พ่อแม่จึงหาไม้กระดานใสให้เรียบแล้วทำกรอบให้ถือถนัดมือ ลมไฟให้ดำ และเอาเขม่าดินหม้อทาให้ดำ และใช้ดินสอพองอย่างชนิดผสมคล้ายๆชอล์คในปัจจุบันเขียนลงไป เมื่อเวลาพระให้เขียนแล้วอ่าน เมื่อเขียนเต็มแล้วก็เอาน้ำลายลบเวลาลบถ้าสีดำที่ทาไว้ลอก ก็ต้องหาดินหม้อผสมกันแล้วทาทับตากให้แห้งจึงนำเอามาเขียนต่อ การเรียนเขียนอ่านมักจะทำเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีพระบ้าง ฆราวาสบ้าง ช่วยกันสอนให้เขียนอ่าน



         ตกเย็นถึงกลางคืนหลังจากกลับบ้านไปกินข้าวกินปลาแล้ว พระทำวัตรเย็นเสร็จก็พากันมาวัดต่อการเรียนกับพระที่วัด สิ่งที่สอนกลางคืนก็คือ การสวดมนต์บทต่างๆ อันเป็นพระพุทธมนต์ เช่น พระอิติปิโสถวายพรพระ และพระคาถาต่างๆ วิธีการเรียนก็คือเข้าไปหาพระตามกุฎิแล้วขอเรียน โดยท่านจะสอนให้วันละท่อนสองท่อนแล้วแต่สติปัญญาของเด็กแต่ละคน ใครหน่วนก้านดีก็ต่อมากหน่อย ใครท่าทางปัญญาทึบก็สอนน้อยหน่อย ท่องต่อหน้าท่านแล้วก็กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็มาใหม่เมื่อได้เวลาก็มาหาท่านแล้วท่องตอนที่สอนให้ไปท่องให้ คล่องไม่ผิดอักขระวิธีแล้ว ก็ต่อท่อนต่อไปให้ ถ้าท่องไม่ได้ก็ต้องท่องให้ได้ หรือไม่ก็ต้องกินไม้เรียวแทน เรียกว่าใครไม่เอาใจใส่ก็มีแนวโน้มไม้เรียวไปอวดพ่อแม่แน่ แต่สิ่งที่ดีก็คือจะได้รับการอบรมจากพระให้มีจิตใจสะอาด ไม่ข่มเหงใคร ให้รู้จักศีล รู้จักธรรม บางครั้งท่านก็เล่านิทานธรรมะให้ฟัง เช่น เรื่องในนิทานชาดกต่างๆ สนุกสนาน จนลืมนอนก็มี

         การสอนนั้นบางองค์ก็ใจดี เด็กๆ ชอบเรียน บางองค์ก็ดุเพราะวิชาอาคมแข็งเรียกว่าร้อนวิชาเด็กก็มักจะกลัว แต่พ่อแม่ชอบว่าพระดุดี กำหราบจอมแก่นแทนพ่อแม่ได้ และมักจะสอนดี มีคนมาฝากลูกหลานเข้าเรียนกันมากจนรับไม่ไหว การสอนหนังสือไทยสอนจนอ่านออกเขียนได้ตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต จึงให้หัดหนังสือขอม(หนังสือใหญ่) คือหัดเขียน หัดอ่านหนังสือขอม อันเป็นภาษาที่จารึกพระเวทย์วิทยาดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ท่องสูตร สนธิ การเรียกนาม เรียกสูตร มูลกัจจาย์เป็นช่วงๆ ไป พอถึงหน้าทำนาทำไร่ คือ เดือน ๖ เป็นต้นไป ก็เรียกลูกกลับจากวัด มาช่วยงานในไร่ในนา เพราะลูกชายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานตั้งแต่ตัวเล็กๆ เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำมาหากินควบไปด้วย เรียกว่าช่วยกันทำช่วยกันกิน เป็นอยู่อย่างนี้ทำให้การศึกษาไม่ติดต่อเหมือนปัจจุบันนี้ เรียนบ้างหยุดบ้าง พอจะเรียนได้ก็ลืมเสียกลับมาเรียนใหม่ก็ต้องเริ่มใหม่เรียกว่ายากลำบากเหลือ เกินในการหาความรู้ บางคนเรียนมาถึงอายุ ๑๕-๑๖ ปี พ่อแม่ก็ให้บวชเณรเป็นระยะเพื่อเรียนวิชา ที่บวชแล้วเรียนเรื่อยไปถึงบวชพระก็มี

         เมื่อได้บวชเป็นพระในวัดก็แบ่งออกเป็นสองแผนก คือ พระองค์ไหนบวชใหม่แล้วมีปัญญาดีชอบทางอักษรศาสตร์ ก็จะเล่าเรียนบาลี การแปรพระธรรมบท และอักขระเลขยันต์ คาถาอาคม ตลอดจนการปลุกเสก วิปัสสนากรรมฐาน พระเวทย์วิทยามนต์ การแพทย์แผนโบราณ เรียกว่าเรียนเพื่อเป็นพระอาจารย์เขา มีทั้งลบผง เสกผง และอุปเทห์ต่างๆ ตามคำภีร์โบราณ ซึ่งการเรียนอย่างนี้ส่งผลให้เกิดพระอาจารย์เจ้าที่มีอาคมขลังมามากต่อมา แล้ว ประเภทนี้โดยมากบวชแล้วไม่ยอมสึกตลอดชีวิต

         อีกแผนกหนึ่งบวชแล้วปัญญาไม่ดี หรือไม่ประสงค์จะเรียนทางวิชาอักษรศาสตร์ ก็เรียนทางการช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างปั้น การช่างฝีมือสารพัด เรียกว่าเมื่อครบพรรษาแล้วสึกออกมาก็มีความรู้ติดตัวออกมาประกอบอาชีพได้ สารพัด ประเภทหลังนี้มักจะบวชชั่วคราวเพียงพรรษาเดียว หรือสองพรรษา แล้วก็สึกไปทำมาหากิน ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น คือ การให้ศึกษาของวัดหนองโพต่อบุตรหลานของบ้างหนองโพ แต่หลวงพ่อเดิมมิได้ไปศึกษาดังเช่นเขาอื่น เพราะเป็นบุตรคนหัวปีของพ่อแม่ จึงไม่ค่อยจะได้เข้าวัดเรียนหนังสืออาจจะเรียนบ้าง แต่เนื่องจากความลำบากในการเรียนที่กล่าวมาแล้ว หลวงพ่อเลยไม่ยอมเข้าเรียนก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น